'อคส.'ส่งคดีจำนำข้าวอัยการ ฟ้องเรียกค่าเสียหาย3แสนล.
อาชญากรรม
ขณะที่แหล่งข่าวกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า อคส.ได้รวบรวมเอกสารหลักฐาน ที่คู่สัญญาของ อคส.กระทำผิดสัญญา เช่น ทำข้าวหาย ข้าวเสื่อมคุณภาพ เป็นต้น ส่งให้พนักงานอัยการครบทั้งหมด 246 สัญญาแล้ว แบ่งเป็นคดีของเจ้าของโกดังทำผิดสัญญา 167 สัญญา ส่งอัยการเมื่อเดือน พ.ย.61 และคดีของเซอร์เวเยอร์ 79 สัญญา ส่งอัยการเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.61 คิดเป็นมูลค่าความเสียหายที่ อคส.เรียกจากคู่สัญญาสูงถึงกว่า 300,000 ล้านบาท
หลังจากนี้พนักงานอัยการจะรวบรวมเอกสารหลักฐาน และทำสำนวนส่งฟ้องศาลต่อไป อย่างไรก็ตามทางอัยการต้องเร่งส่งฟ้องศาลให้ทันก่อนคดีจะหมดอายุความ โดยแต่ละคดีจะทยอยหมดอายุความตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.-5 ส.ค.62 หรือภายใน 5 ปี นับจากวันที่คณะอนุกรรมการ ตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐบาล ที่มี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ตรวจสอบข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลเมื่อวันที่ 3 ก.ค.-5 ส.ค.57 ซึ่งในระหว่างนี้ หากมีข้อมูลที่ยังไม่ครบถ้วน อัยการสามารถขอมายังอคส.ได้
ล่าสุดอัยการขอให้อคส.ทำข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับความเสียหายต่าง ๆ เช่น ความเสียหายที่เกิดจากคู่สัญญาทำให้ข้าวสูญหาย หรือข้าวเสื่อมคุณภาพรวมดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าตรวจสอบคุณภาพ ค่ารมยา ค่ากระสอบ ค่าเช่าโกดัง รวมดอกเบี้ย ซึ่งอคส.อยู่ระหว่างรวบรวมและจัดส่งให้อัยการ ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้ทาง อคส.ได้ส่งหนังสือทวงถาม (โนติส) ไปยังคู่สัญญาทั้งหมดที่ทำผิดสัญญา เพื่อให้มาชดใช้ความเสียหายให้กับอคส. หากไม่ชดใช้อคส.จะยึดหนังสือสัญญาค้ำประกัน (แอลจี) นั้น ปรากฎว่าธนาคารบางแห่ง ซึ่งเป็นผู้ออกแอลจีให้กับคู่สัญญาอคส.ยอมให้ยึด บางแห่งไม่ยอม คาดว่าคู่สัญญาไม่น่าจะสามารถชดใช้ค่าเสียหายได้ เพราะส่วนใหญ่ต้องชดใช้ตั้งแต่กว่า 1,000 ล้านบาทถึงกว่า 9,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกันคู่สัญญาบางราย ได้ฟ้องศาลขอให้คุ้มครองชั่วคราว โดยให้ศาลระงับผลการตรวจสอบคุณภาพข้าว ของคณะกรรมการตรวจสอบปริมาณของ ม.ล.ปนัดดา เพราะไม่มีความน่าเชื่อถือ ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงไม่สามารถนำมาอ้างได้ ว่าคู่สัญญาเป็นผู้ทำให้ข้าวในสต๊อกเสื่อมคุณภาพ ขณะที่บางรายยังฟ้องร้องอคส.ฐานไม่จ่ายเงินค่าเช่าโกดัง และค่ารมยาให้ด้วย
สำหรับคดีอาญาที่เกิดจากการทุจริต ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตั้งแต่ปี 51-52 ,54-55 ,55-56 และปี 56-57 รวม 884 คดีนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะมีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐร่วมกันกระทำผิด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงถึง 115,000 ล้านบาท โดยบางคดีได้ส่งฟ้องศาลไปแล้ว.