ข่าวสถิติฆ่าคนในครอบครัวพุ่ง เตือนโซเชียลกระตุ้นก่อเหตุ - kachon.com

สถิติฆ่าคนในครอบครัวพุ่ง เตือนโซเชียลกระตุ้นก่อเหตุ
อาชญากรรม

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 18 ม.ค. ที่เดอะฮอลล์ บางกอก มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลร่วมกับเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และคณะทำงานปกป้องเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงทางสังคม จัดเสวนาเรื่อง "วิกฤติความสัมพันธ์ในครอบครัวสู่ฆาตกรรมและความรุนแรง" โดยนายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ระบุสถานการณ์เพียงครึ่งเดือนแรกของ ม.ค.62 พบว่ามีข่าวความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มมากขึ้นผิดปกติทั้งข่าวฆาตกรรม ฆ่ายกครัว ฆ่าหึงหวง เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ จากการรวบรวมข่าวความรุนแรงในครอบครัวตั้งแต่วันที่ 1-16 ม.ค. 62 พบมี 28 ข่าว ถือว่าเพิ่มสูงขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปี 61 ที่มีเพียง 10 ข่าว ในจำนวน 28 ข่าว แบ่งเป็นข่าวฆ่าคนในครอบครัว 20 ข่าว ฆ่าตัวตาย 4 ข่าว และถูกทำร้ายสาหัส 4 ข่าว ซึ่งเกือบครึ่งเป็นการใช้ปืน ขณะที่ร้อยละ 41 เกิดจากเหตุหึงหวงขอคืนดีไม่สำเร็จ ร้อยละ 19 เมา เสพยา

นายจะเด็จ เผยส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงจนนำไปสู่อาชญากรรม คือ การทำหน้าที่ของตำรวจที่มักทำเพียงบันทึกประจำวันเน้นไกล่เกลี่ย ทำให้พฤติกรรมบางอย่างไม่ถูกปรามจนลุกลาม เพราะได้ใจว่าไม่มีใครทำอะไรได้ ขณะที่หลายกรณีชุมชนรู้แต่ไม่ยื่นมือเข้าช่วย เพราะมองเป็นเรื่องครอบครัว อีกประเด็นคือการระบายผ่านสื่อโซเชียล แม้ทำให้คนอื่นรับรู้ แต่กับคู่กรณีอาจไปเพิ่มความโกรธเคือง กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง

"สถานการณ์ขณะนี้เหมือนสงครามอาชญากรรมที่ทวีความรุนแรงขึ้น มีการใช้อาวุธปืนเกี่ยวข้องความตาย แต่รัฐกลับนิ่งเฉย ทั้งที่ควรมีการวอร์รูมเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์แต่ละพื้นที่ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การช่วยเหลือได้ทันก่อนสูญเสีย ขณะเดียวกันยังต้องเร่งปรับเปลี่ยนวิธีคิดชายเป็นใหญ่ เคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย โดยทำหลักสูตรตั้งแต่ชั้นประถม หากยังปล่อยไว้อาจกลายเป็นโศกนาฎกรรมรายวัน ส่งผลต่อเยาวชนที่ซึมซับความรุนแรง และสิ่งนี้จะย้อนกลับมาสู่สังคม" นายจะเด็จ กล่าว



ด้าน พ.ต.อ.เผด็จ ภู่บุบผากาญจน ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สะท้อนถึงมุมหนึ่งของการนำเสนอข่าวว่า อาจไปซ้ำเติมผู้ถูกกระทำ ยกตัวอย่าง ตนเคยทำคดียายมาร้องทุกข์ว่าอาข่มขืนหลาน และสื่อไปสัมภาษณ์ยาย แม้ในเนื้อหาข่าวไม่เปิดเผยชื่อเด็ก แต่ระบุชื่อยาย ทำให้ครูในโรงเรียนรู้ว่าเด็กคนนั้นคือใคร และถูกเรียกไปถามจนเพื่อนทั้งโรงเรียนรู้ ทำให้เด็กบอบช้ำไม่อยากไปเรียนกลายเป็นผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการใช้ชีวิตของเด็ก ดังนั้นในกรณีนี้ฝากสื่อนำเสนอข่าวอย่างรอบครอบ สังคมต้องช่วยกันจับสัญญาณความผิดปกติ เพื่อเข้าไปหยุดการกระทำอย่างมีสติ ไม่ใช่เข้าไปเพื่อประจาน ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 2550 เน้นเยียวยารักษาครอบครัวไว้ และคุ้มครองเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำซ้ำ โดยมาตรา 9 ระบุเรื่องการควบคุมการนำเสนอข่าวของสื่อเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดและผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง คือ ห้ามเปิดเผยหรือเผยแพร่ต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลใดๆ ทั้งภาพ เรื่องราว อันน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่นายอำนาจ แป้นประเสริฐ แกนนำชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย ยอมรับเคยเป็นคนที่ใช้ความรุนแรงกับครอบครัว แต่สุดท้ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเข้าไปช่วยเหลือคนอื่น ครั้งหนึ่งเคยไปช่วยเหลือแม่ที่ถูกลูกชายแท้ๆ ข่มขืน และติดเชื้อ ซึ่งกว่าร้อยละ 90 ความรุนแรงลักษณะนี้มักมาจากคนใกล้ตัว ดังนั้น หากทุกคนไม่นิ่งเฉย คอยเป็นหูเป็นตา ช่วยแจ้งเหตุ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวน่าจะลดลงได้.