'หญิงไก่'ร่ำไห้ทรุดกราบศาล อุทธรณ์ยกฟ้องคดีค้ามนุษย์
อาชญากรรม
สืบเนื่องจากต้นเดือนมิ.ย. 49 ถึงปลายเดือนต.ค. 53 จำเลยหลอกน.ส.ดาลิน หล้าคำ, น.ส.กาญจนา ปองลาภสุนทร และน.ส.ขวัญจิรา จิรสกุลโชคชัย ผู้เสียหายที่ 1-3 มาทำงานเป็นคนรับใช้ บังคับใช้แรงงานตั้งแต่เวลา 05.00 น. ถึง 22.00 น. โดยไม่มีวันหยุดและไม่จ่ายค่าจ้าง แล้วยังข่มขู่ผู้เสียหายหากไม่ยอมทำงานจะแจ้งตำรวจจับบิดามารดา
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาไปเมื่อ 19 ต.ค. 60 เห็นว่า สำหรับผู้เสียหายที่ 1 และ 3 พยานหลักฐานยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีพฤติการณ์ข่มขู่ หรือเข้าข่ายความผิดตามฟ้อง เนื่องจากไม่มีการยึดบัตรประชาชน การทำงานเป็นไปด้วยความสมัครใจและยังไม่มีพยานหลักฐานพิสูจน์ว่าผู้เสียหายต้องทำงานต่อเนื่องตั้งแต่ 05.00 น. ถึง 22.00 น. จริง ส่วนประเด็นที่อ้างว่าจำเลยข่มขู่บิดาของผู้เสียหายที่ 3 ว่า หากลูกสาวไม่ยอมทำงานต่อจะดำเนินคดีกับบิดาและมารดาในประเด็นนี้ก็ไม่มีหลักฐานแน่ชัด จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการข่มขู่เพื่อแสวงหาจากการบังคับใช้แรงงาน
เเต่ในส่วนผู้เสียหายที่ 2 พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังได้ว่า จำเลยได้ยึดบัตรประชาชน จำเลยที่ 2 มาเก็บไว้ และจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างเดือนละ 6,000 บาท ตามที่ตกลงกันไว้ เเละยังไม่ส่งผู้เสียหายที่ 2 ให้เรียนพยาบาลตามที่เคยมีการตกลงกันไว้ซึ่งพิจารณาเเล้วถึง แม้งานดังกล่าวจะไม่หนักมาก ผู้เสียหายเพียงคนเดียวย่อมสามารถกระทำได้ แต่การยึดบัตรประชาชนไว้จำเลยมีเจตนาหาประโยชน์โดยมิชอบจากการใช้แรงงาน จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ พิพากษาจำคุก 4 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีจึงลดโทษให้ 1 ใน 4 เหลือจำคุก 3 ปี และให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหายที่ 2 เป็นเงิน 590,007 บาท
โดยวันนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เบิกตัวนางมณตา จากทัณฑสถานหญิงกลางบางเขนมาฟังคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทย์ฟ้องจำเลยฐานค้ามนุษย์ โดยบังคับใช้แรงงาน ตาม พ.ร.บ. ป้องตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 ต้องเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นธุระจัดหากักขังหน่วงเหนี่ยว โดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ หรือโดยให้เงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้ปกครอง หรือบุคคลนั้น
แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยจัดให้ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็ก พักอาศัยในคอนโดประชานิเวศน์ให้ทำงานบ้าน ซึ่งนอกจากผู้เสียหายที่ 2 แล้ว ยังมีผู้เสียหายที่ 1 และ 3 ทำงานบ้านเช่นเดียวกัน ทั้ง 3 แบ่งหน้าที่กันทำ ช่วยดูแลจำเลยกับบุตรเพียงสองคนเท่านั้น เชื่อว่างานที่ผู้เสียหายทำไม่หนักมาก และยังได้ความจากผู้เสียหายที่ 2 ว่า จำเลยได้ให้เงินครั้งละ 1 พันบาท ให้โทรศัพท์ ให้ค่าเดินทางกลับบ้าน 2 พันบาท และโอนเงินให้อีก 5 พันบาท พาไปเที่ยวต่างจังหวัดบางครั้ง อีกทั้งเวลาว่างสามารถออกไปซื้อของข้างนอกได้ แสดงว่าผู้เสียหายที่ 2 มีอิสระ ไม่ได้ถูกกักขัง
แม้จะปรากฏว่าจำเลยชวนผู้เสียหายที่ 2 มาทำงาน จำเลยอ้างว่าจะส่งเสียให้เรียนพยาบาล กลับมอบเงินให้บิดามารดา 5 พันบาท จนยินยอมให้พาผู้เสียหายไปทำงาน แต่เมื่อไปแล้วกลับไม่ส่งเสียให้เรียน และไม่จ่ายค่าจ้าง รวมทั้งนำบัตรประชาชนมาเก็บไว้ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏจากการนำสืบว่าระหว่างที่ผู้เสียหายทำงานกับจำเลยนั้น จำเลยได้กระทำการใด อันเป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายทำงาน โดยทำให้ผู้เสียหายจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน หรือขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือทำให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้แต่อย่างใด กับได้ความจากผู้เสียหายที่ 2 เองว่า จำเลยเป็นคนโมโหง่าย แต่ไม่เคยบังคับข่มขู่ให้ทำงาน ข้อเท็จจริงที่โจทย์นำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ โดยการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การกระทำของจำเลยจึงไม่ครบองค์ประกอบการกระทำผิดฐานค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2)
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์ ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นสำหรับคดี ส่วนแพ่งเมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด จำเลยจึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายที่ 2 ศาลพิพากษากลับยกฟ้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษา นางมณตา ร้องไห้ด้วยความดีใจ ก่อนทรุดลงกับพื้นและก้มลงกราบศาล