ข่าวเปิดคำพิพากษาศาลฎีกา เหตุยกฟ้องคดีอุ้มฆ่า'อัลรูไวลี' - kachon.com

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา เหตุยกฟ้องคดีอุ้มฆ่า'อัลรูไวลี'
อาชญากรรม

photodune-2043745-college-student-s
จากกรณี ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนยกฟ้อง คดีฆ่าอุ้มฆ่า นายอัลลูไวลี นักธุรกิจ ชาวซาอุดิอาระเบีย เนื่องจากพยานหลักฐานมีน้ำหนักน้อยไม่สามารถเอาผิดจำเลย คือ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจ และอดีต ผบช.ภ.5 กับพวกรวม 5 คนได้ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 มี.ค. คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้ระบุ เอาไว้ว่า ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่

เห็นว่าทางนำสืบของโจทก์คงได้เพียงข้อเท็จจริงของคดีที่มีการฆาตกรรมนักการทูตของสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ 3 คน ต่อมานายอัลลูไวลี นักธุรกิจได้หายตัวไป โดยไม่ปรากฏหลักฐานการเสียชีวิต พบแต่รถยนต์ จากการสืบสวนสอบสวนมีแต่คำพูดกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้ง 5 นำตัวผู้เสียหายไปฆ่าและเผา ไม่มีประจักษ์พยาน คงมีแต่ พ.ต.ท.สุวิชชัย ให้การเป็นพยานบอกเล่าลอย ๆ ข้อเท็จจริงตามนำสืบของโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยทั้งห้า ที่จะมีน้ำหนักให้พิจารณาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งห้าได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่...

กรณีมีข้อพิจารณาเพียงนำสืบของโจทก์ที่อ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญ จึงมีการรื้อฟื้นคดี ที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ซึ่งคณะกรรมการที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับซาอุฯ หลังจากนักการทูตถูกฆาตกรรม และนักธุรกิจชาวซาอุฯ หายตัวไป มีความเห็นให้โอนคดีไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการ และเมื่อพิจารณาสำนวนการสอบสวนเดิม เห็นว่ามีพยาน 1 ปาก คือ พ.ต.ท.สุวิชชัย ซึ่งถูกดำเนินคดีข้อหาฆ่าผู้อื่น อยู่ระหว่างการปล่อยชั่วคราว เคยเข้าพบ พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ อธิบดีดีเอสไอ (ตำแหน่งขณะนั้น) มีการสนทนาและบันทึกเสียง มีเนื้อหาสรุปว่า พล.ต.อ.สมบัติ ได้แจ้งว่ารัฐบาลไทยต้องการให้ประเทศซาอุฯ พอใจผลคดีที่นายอัลลูไวลี หายตัวไป

โดย พ.ต.ท.สุวิชชัย อ้างว่าได้รับทราบจากคำบอกเล่าของจำเลยที่ 5 ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกันเอาตัวนายอัลลูไวลีไปยังโรงแรมฉิมพลี ก่อนพาไปยังไร่ของจำเลยที่ 1 ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ก่อนฆาตกรรมจนถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นได้เผากลบและนำไปลอยอังคาร พ.ต.ท.สุวิชชัย ยังเล่าให้ พล.ต.อ.สมบัติ ฟังว่า ตนโดนดำเนินคดีข้อหาฆ่าผู้อื่น ถูกศาลมีนบุรีพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต และได้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ จนเมื่อมีการถามว่าจะมีใครยืนยันว่านายอัลลูไวลีตายแล้ว พ.ต.ท.สุวิชชัย รับว่าตนสามารถยืนยันได้ แต่ต้องหลุดคดีก่อน นอกจากนี้ยังมีเจ้าของกิจการร้านเพชรพลอยเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ถึงแหวนว่ามีลักษณะผ่านการใช้งานทั่วไป ไม่แตกต่างจากแหวนอื่น และเป็นแหวนที่ไม่เคยถูกไฟหรือความร้อนมาก่อน พยานยืนยันว่าสามารถดูออกและทราบทันทีถ้าแหวนถูกไฟมาก่อน

ข้อเท็จจริงทางนำสืบของโจทก์เกี่ยวกับแหวนที่อ้างว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญ ได้ความเพียงว่าเดิม พ.ต.ท.สุวิชชัย ไม่เคยแจ้งแก่ผู้ใดหรือพนักงานสอบสวนว่ามีแหวนวงดังกล่าวเป็นพยาน แต่เมื่อดีเอสไอได้รับโอนสำนวนคดีการหายตัวไปของนายอัลลูไวลี พ.ต.ท.สุวิชชัย จึงไปพบ พล.ต.อ.สมบัติ หลังเวลาที่ พ.ต.ท.สุวิชชัย ถูกศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต อันมีลักษณะเป็นการต่อรองคดี เห็นว่า

แม้โจทก์จะมีแหวนเป็นพยานหลักฐานใหม่ แต่การจะรับฟังแหวนดังกล่าวได้เพียงใด ต้องพิจารณาสภาพแหวนและพฤติการณ์ที่แวดล้อม กล่าวคือ พ.ต.ท.สุวิชชัย อ้างว่าแหวนอยู่ใต้ก้นถังน้ำมัน 200 ลิตร ที่เผาทำลายศพนายอัลลูไวลี โดยใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง แต่ตัวแหวนกลับไม่ปรากฏร่องรอยการเผาไหม้ นอกจากนี้ ตามคำเบิกความของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีดีเอสไอขณะนั้น เบิกความว่าได้นำแหวนไปพบญาติของนายอัลลูไวลี ซึ่งญาติไม่ทราบว่าเป็นแหวนของนายอัลลูไวลีหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากสภาพแหวนและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง มีแต่พิรุธและขัดแย้งต่อเหตุผล ทำให้ความเป็นพยานวัตถุมีน้ำหนักรับฟังได้น้อย

ส่วนที่โจทก์ขอนำสืบ พ.ต.ท.สุวิชชัย ประกอบแหวนจึงต้องวินิจฉัยว่าสมควรรับฟังคำเบิกความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ขอสืบพยาน พ.ต.ท.สุวิชชัย แต่อ้างว่าไม่พบตัวในไทย ขอส่งประเด็นไปสืบที่ประเทศกัมพูชาและซาอุฯ ต่อมาโจทก์อ้างพบตัว พ.ต.ท.สุวิชชัย ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขอให้ดำเนินการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องอาญา ขอให้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้มีการประสานงานเกี่ยวกับสืบพยานดังกล่าว

ต่อมาจำเลยทั้งห้าได้ยื่นคำร้องว่า การสืบพยานในประเด็นดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา29 และมาตรา 40 (2) (3) (4) (7) โดยอ้างว่าจำเลยไม่มีโอกาสตรวจรับทราบพยานต่อสู้คดีเพียงพอ และไม่มีโอกาสซักค้าน ซึ่งต่อมาได้มีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 มาตรา 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะกระทำมิได้ และเรื่องหลักประกันขั้นพื้นฐานในการได้รับทราบข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ และการเสนอข้อเท็จจริงโต้แย้งฯ ศาลจึงไม่อาจนำคำเบิกความของ พ.ต.ท.สุวิชชัย มารับฟังได้เฉพาะในเรื่องที่กระทบต่อการสู้คดีของจำเลยทั้งห้า ดังนั้น จึงเป็นคำเบิกความต้องห้ามที่ไม่อาจรับไว้เพื่อฟังได้ แต่คำเบิกความของ พ.ต.ท.สุวิชชัย ในเรื่องอื่นที่ไม่กระทบต่อสิทธิในการดำเนินคดีของจำเลยทั้งห้า ไม่อยู่ในบทข้อห้าม

ปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ขอส่งคำเบิกความของ พ.ต.ท.สุวิชชัย ซึ่งอ้างว่ามีถิ่นที่อยู่ต่างประเทศแทนการนำพยานบุคคลมาเบิกความต่อหน้าศาล ข้อเท็จจริงได้ตามทางพิจารณาว่า เดิมก่อนที่ศาลจังหวัดมีนบุรีจะอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ยืนจำคุก พ.ต.ท.สุวิชชัย ได้ติดต่อกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอมาตลอด ต่อมา พ.ต.ท.สุวิชชัย ได้ติดต่อดีเอสไอขอให้นำตัวไปอยู่ต่างประเทศ ปรากฏตามการไต่สวนคำร้องของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอขณะนั้น ลงวันที่ 25 มี.ค. 2556 ที่ขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 และ 4 โดยอ้างหนังสือ พ.ต.ท.สุวิชชัย ว่าตนเองได้เปลี่ยนชื่อเป็นนายเกียรติกรณ์ แก้วเพชรศรี แล้วแจ้งว่าจำเลยที่ 1 กับพวกข่มขู่ทำอันตรายแก่ชีวิต จึงขอความร่วมมือให้ดีเอสไอคุ้มครอง โดยย้ายไปอยู่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และขอให้ทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่โดยใช้ชื่อใหม่นี้ ขอให้คุ้มครองไปเบิกความด้วยการส่งประเด็นให้สืบพยานที่ประเทศดังกล่าว

ยังได้ตามคำเบิกความนายธาริต ว่าก่อนจะมีการสืบพยานที่สหรัฐอาหรับฯ พ.ต.ท.สุวิชชัย เดินทางเข้าออกประเทศเป็นอาจิณ ก่อนจะมีการสืบพยาน เจ้าหน้าที่ดีเอสไอนำพยานปากดังกล่าวไปยังประเทศสหรัฐอาหรับอีกฯ แม้คำเบิกความดังกล่าวจะเป็นการไต่สวนเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งปล่อยชั่วคราวจำเลย แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงในสำนวนที่ศาลนำมารับฟังประกอบคำวินิจฉัย เมื่อประกอบหนังสือ ตม. ที่ส่งมาศาลตามหมายเรียกระบุว่า นายเกียรติกรณ์ เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2555 พฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่า การที่พยานดังกล่าวเดินทางออกนอกประเทศได้เกิดจากการช่วยเหลือและดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ พ.ต.ท.สุวิชชัย เดินทางไปเบิกความที่ประเทศดังกล่าวตามข้อต่อรอง

การส่งประเด็นไปสืบพยาน พ.ต.ท.สุวิชชัย ทั้งที่อยู่ในวิสัยที่สามารถนำมาเบิกความที่ศาลชั้นต้นได้ เชื่อว่าเกิดจากการต่อรองของ พ.ต.ท.สุวิชชัย ที่เกรงว่าจะถูกควบคุมตัวตามคำพิพากษายืนจำคุกตลอดชีวิตของศาลจังหวัดมีนบุรี มิใช่เกิดจากเกรงกลัวว่าจะถูกฝ่ายจำเลยทำอันตรายถึงแก่ชีวิต คำเบิกความของ พ.ต.ท.สุวิชชัย ที่สหรัฐอาหรับฯ จึงไม่ต้องด้วยกรณีมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจนำพยานมาเบิกความได้ และไม่ถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ ดังนั้นพยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่ปรากฏอยู่จึงมีเพียงแหวนวัตถุพยาน และบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของ พ.ต.ท.สุวิชชัย ดังนั้น พยานหลักฐานของโจทก์ที่ได้ความว่า พ.ต.ท.สุวิชชัย ได้รับมอบแหวนจากจำเลยที่ 4 โดยอ้างว่าได้จากก้นถังน้ำมัน 200 ลิตรที่ใช้เผาศพนายอัลลูไวลีกว่า 5 ชั่วโมง แต่ลักษณะของแหวนที่ปรากฏการซ่อมแซมมีรอยบิดเบี้ยวตามการใช้งานปกติ ไม่ปรากฏร่องรอยการเผาไหม้ 

พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่ปรากฏจึงมีน้ำหนักน้อยจนรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำผิดตามฟ้อง ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ร่วม (มารดานายอัลลูไวลี) เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป พิพากษายืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ฎีกา'ยืนยกฟ้อง'สมคิด' คดีอุ้มฆ่านักธุรกิจซาอุฯ'อัลรูไวลี่'