ข่าวย้อน29ปีคดีอุ้มฆ่า'อัลรูไวลี' ถึงวันยกฟ้อง'พล.ต.ท.สมคิด' - kachon.com

ย้อน29ปีคดีอุ้มฆ่า'อัลรูไวลี' ถึงวันยกฟ้อง'พล.ต.ท.สมคิด'
อาชญากรรม

photodune-2043745-college-student-s
เป็นคดีประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของวงการยุติธรรมไทย กับการฆาตกรรม “นายมูฮัมหมัด อัลรูไวลี” นักธุรกิจซึ่งเป็นหนึ่งในเชื้อพระวงศ์ของซาอุดิอาระเบีย โดยเข้ามาอยู่ที่ประเทศไทยประมาณปี 2529 โดยเปิดบริษัททำธุรกิจจัดส่งแรงงานไปทำงานในประเทศแถบตะวันออกกลาง จนนำมาสู่การยกฟ้อง “พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม” อดีตจเรตำรวจ และอดีต ผบช.ภ.5 จนกลายเป็นอีกหนึ่งคดีที่ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างล้นหลาม

หากย้อนอดีตไปลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เริ่มจากการที่เจ้าหน้าที่ทูตซาอุฯถูกลอบสังหารกลางเมืองกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2532 โดยตำรวจไทยไม่สามารถที่จะสืบสวนจับคนร้ายมาดำเนินคดีได้ ต่อมาในวันที่ 1 ก.พ. 2533 คนร้ายได้ลงมือฆ่าเจ้าหน้าที่การทูตซาอุฯอีก 3 ศพรวดในเวลาเดียวกัน รวมทั้งหมดเป็น 4 ศพ แต่ตำรวจไทยก็ไม่สามารถจับคนร้ายตัวจริงมาลงโทษได้เช่นเดิม ในเดือนเดียวกันนั้นเอง “นายอัลรูไวลี” ได้หายตัวไปอย่างลึกลับจากลานจอดรถของโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ซึ่งกรณีนี้ ทำให้ทางการซาอุฯไม่พอใจอย่างยิ่ง จนถึงขั้นลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต ออกข้อจำกัดเกี่ยวกับแรงงานไทย ห้ามประชาชนเดินทางมาประเทศไทย และลดระดับความร่วมมือระดับสูงในทุกด้านลงมาอยู่ระดับต่ำสุด



ต่อมาในปี 2535 รัฐบาลสมัยนั้นต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย จึงสั่งให้ พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น รื้อคดีสังหารนักการทูต และการหายตัวไปของนายอัลรูไวลี และจากข้อมูลในทางลับมีการอ้างว่า ทีมสืบสวนขณะนั้นที่นำโดย “พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม” อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ได้นำตัว นายอัลรูไวลี ไปสอบเค้นข้อมูล แต่เกิดความผิดพลาดจนเสียชีวิต จนต้องทำลายหลักฐานที่ จ.ชลบุรี แต่คดีนี้ “อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ”

กระทั่งในปี 2552 กรมสอบสวนคดีพิเศษในสมัยของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้นำหลักฐานใหม่ขอรื้อคดีการหายตัวไปของนายอัลรูไวลี และเป็นจุดเริ่มต้นของการออกหมายเรียก พล.ต.อ.สมคิด พร้อมผู้ใต้บังคับบัญชาอีก 4 คน มารับทราบข้อกล่าวหา “ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน ปิดบังซ่อนเร้นทำลายศพ ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว ข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำหรือไม่กระทำการใด” โดยหลักฐานใหม่ที่ใช้ในการดำเนินการสั่งฟ้อง มีเพียง "แหวนทอง" ที่หัวแหวนมีรูปพระจันทร์เสี้ยว ซึ่งเป็นแหวนประจำตระกูลของนายอัลรูไวลีที่ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก 1 ในทีมของพล.ต.อ.สมคิด เก็บไว้ ซึ่ง พ.ต.ท.สุวิชัย เอง ภายหลังได้รับความช่วยเหลือจากดีเอสไอกันไว้เป็นพยานปากสำคัญ



จนกระทั่งต้นเดือนมกราคม 2553 (ก่อนหมดอายุคดีความเพียง 1 เดือน) กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI สั่งฟ้อง “พล.ต.ท.สมคิด” และพวกอีก 4 คน ในคดีร่วมกันฆ่า นายมูฮัมมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุฯ ที่หายตัวไปอย่างลึกลับ จนทำให้หลายฝ่ายมองว่า ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุฯ อาจเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่แล้วความหวังดังกล่าวก็ดูเหมือนจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อ “มีการแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ขึ้นไปเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.)” ทั้งๆ ที่เป็นผู้ต้องหาคดีอัลรูไวลี และคดียังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในชั้นศาล จนทำให้รัฐบาลซาอุฯออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจในการแต่งตั้งดังกล่าว โดยส่วนหนึ่งของแถลงการณ์อ้างว่า ตามมาตรา 95 ของ พ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตำรวจคนใดถ้ายังมีคดีความติดตัวไม่เป็นที่สิ้นสุด จะต้องถูกออกจากราชการไว้ก่อน

หลังจากนั้น วันที่ 31 มี.ค. 2557 “ศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้อง” ในคดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 และ นางวักดะห์ ซาเล็ม ฮาเหม็ด อัลรูไวลี มารดาของ นายอัลรูไวลี ร่วมกันเป็นโจทก์ ฟ้อง พล.ต.อ.สมคิด พร้อมพวก รวม 5 คน โดยมีคำวิจฉัยว่า “เมื่อคดีนี้เป็นคดีอุกฉกรรจ์มีโทษถึงประหารชีวิต พยานหลักฐานโจทก์ต้องชัดแจ้งหนักแน่นมั่นคงโดยไม่มีข้อตำหนิใดๆ การที่โจทก์ไม่นำตัว พ.ต.ท.สุวิชชัย มาเป็นพยานเบิกความยืนยันว่าจำเลยทั้งห้าเป็นผู้กระทำผิด เท่ากับโจทก์ไม่มีประจักษ์พยาน” ลำพังมีเพียงบันทึกถ้อยคำของ พ.ต.ท.สุวิชชัย เป็นพยานบอกเล่าและมีข้อพิรุธหลายประการดังที่ได้วินิจฉัยมาจึงไม่น่าเชื่อถือ อีกทั้งพยานอื่นๆของโจทก์ เป็นเพียงพยานแวดล้อม กรณีจึงไม่มีการยืนยันว่ารู้เห็นการกระทำผิดของจำเลยทั้งห้า จึงยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งห้าได้ร่วมกระทำผิดจริง ประกอบกับจำเลยทั้งห้าได้ปฏิเสธมาโดยตลอด คดีจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
-ยกฟ้อง"สมคิด บุญถนอม"พร้อมลูกน้องคดีอุ้มฆ่า"อัลรูไวลี่"



3 พ.ค. 2559 “ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง” พล.ต.ท.สมคิดพร้อมพวก ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย เนื่องจากเห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง มีเพียงพยานแวดล้อมบอกเล่าเท่านั้น โดยทางอุปทูตซาอุฯได้เตรียมยื่นฎีกาเพื่อสู้คดีนชั้นศาลต่อไป เพราะเห็นว่าคดีนี้ยังไม่สิ้นสุดจึงสามารถต่อสู้ในชั้นฏีกาได้

22 มี.ค. 2562 เข้าสู่ปีที่ 29 ของการหายตัวไปของ “นายอัลรูไวลี” ศาลฎีกาพิพากษายืน ยกฟ้อง “พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม” อดีตจเรตำรวจ กับลูกน้องรวม 4 คน ในคดีอุ้มฆ่า นายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจซาอุฯ ชี้เหตุพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน้อย “เนื่องจากพยานโจทก์ยังมีข้อพิรุธไม่น่าเชื่อถือ” โดยศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า โจทก์มี พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก เบิกความเป็นพยานโจทก์แต่ก็ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง เนื่องจาก พ.ต.ท.สุวิชชัย เองก็เป็นจำเลยในคดีอาญาอื่น อีกทั้งไม่ได้นำตัวมาเบิกความต่อศาล จึงมีแต่เพียงคำให้การของพยานไว้เท่านั้น พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อย พิพากษายืน ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด..
-'ฎีกา'ยืนยกฟ้อง'สมคิด' คดีอุ้มฆ่านักธุรกิจซาอุฯ'อัลรูไวลี่'