ข่าวรอ2เดือนเอาผิดแฟลตดินแดงถล่ม ชี้รื้อต่างจากก่อสร้าง - kachon.com

รอ2เดือนเอาผิดแฟลตดินแดงถล่ม ชี้รื้อต่างจากก่อสร้าง
อาชญากรรม

photodune-2043745-college-student-s

จากกรณีอาคารเคหะชุมชนดินแดง แฟลต 18-20 แขวงและเขตดินแดง กรุงเทพฯ ที่อยู่ระหว่างการรื้อถอนตามโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 ได้ถล่มลงมา ทำให้เสาไฟฟ้าหักโค่น จำนวน 7 ต้น ทับรถยนต์ที่จอดอยู่รอบสถานที่รื้อถอนเสียหาย 9 คัน โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมานั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร พร้อมนายชูเลิศ จิตเจือจุน นายวัฒนาพงศ์ หิรัญมาลย์ นายรณรงค์ กระจ่างยศ คณะจากสภาวิศวกร ร่วมกับ​ พ.ต.ท.โสภณ แย้มชมชื่น รอง ผกก.(สอบสวน) สน.ดินแดง  เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตดินแดง และเจ้าหน้าที่การเคหะแห่งชาติ ลงพื้นที่ตรวจสอบการรื้อถอนอาคารเคหะชุมชนดินแดง  ตามโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 หลังได้ถล่มลงมาทับรถยนต์เสียหายและทำให้เสาไฟหักโค่น 



ศ.ดร.อมร กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าอาคารดังกล่าวเข้าหลักวิศวกรรมควบคุม ซึ่งต้องมีวิศวกรดูแล ตามกฎหมายประกอบ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.วิศวกร และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ทั้งนี้เรื่องการขออนุญาตต่างๆ เป็นในส่วนพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ส่วนการรื้อถอนอาคารต้องปฏิบัติไปตามหลักวิศวกรรมภายใต้พ.ร.บ.วิศวกร ซึ่งมีสภาวิศวกรกำกับดูแลการทำงานของวิศวกร ส่วนสาเหตุที่เกิดขึ้นได้ตั้งประเด็นไว้ว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้มีวิศวกรเข้ามาควบคุมในการรื้อถอนหรือไม่ และมีการออกแบบขั้นตอนการรื้อถอนถูกต้องหรือไม่ ถ้ามีวิศวกรแล้ววิศวกรได้ปฏิบัติตามหลักวิศวกรรมหรือไม่ ในกรณีแรกถ้าตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีวิศวกรเข้ามากำกับดูแลจะเรียกว่าเป็นการทำผิดตามหลักพ.ร.บ.วิศวกร 



"หากมีวิศวกรแล้วไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถตามหลักวิศวกรก็จะเป็นเรื่องของการดำเนินการทางจรรยาบรรณ ซึ่งอาจมีโทษสูงสุดคือเพิกถอนใบอนุญาต โดยต้องผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการจรรยาบรรณจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนและเชิญตัววิศวกรที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ถ้อยคำและสรุปสาเหตุ ทั้งนี้ยังต้องรวบรวมเอกสารต่างๆ โดยจะทำหนังสือไปถึง 3 หน่วยงานคือ 1.การเคหะแห่งชาติ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ 2.สำนักงานเขตดินแดง ซึ่งเป็นคนออกใบอนุญาต และ3.ตำรวจสน.ดินแดง เมื่อได้เอกสารครบแล้วจะทราบว่าวิศวกรที่เกี่ยวข้องคือใคร ก่อนจะเชิญเข้ามาไต่สวน คาดว่าจะเริ่มไต่สวนได้ภายในสองสัปดาห์ ทั้งนี้หากพบว่ามีความชัดเจนว่าขั้นตอนการดำเนินการทางวิศวกรรมผิดพลาด จะนำไปสู่การลงโทษคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จนกว่าจะลงโทษผู้กระทำผิดได้"


ศ.ดร.อมร กล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนการรื้อถอนนั้นจะต่างจากการก่อสร้างที่จะเริ่มจากฐานรากขึ้นข้างบน ซึ่งการรื้อถอนต้องทำตรงข้าม โดยเริ่มทำลายจากเปลือกนอกหรือผนัง ทีละชั้นจากบนลงล่าง จนเหลือเสาคานเนื้อใน หากทำลัดขั้นตอน ก็อาจเป็นเหตุให้พังถล่มได้ ทั้งนี้ การพังถล่มตามปกติต้องในลงแนวดิ่ง แต่หากผิดหลักจะออกด้านข้าง หรือนอกแนวกั้น