ข่าว'กรมคุก'ปิ้งไอเดียฝังชิปโซ่ตรวน ป้องกันนักโทษหลบหนี - kachon.com

'กรมคุก'ปิ้งไอเดียฝังชิปโซ่ตรวน ป้องกันนักโทษหลบหนี
อาชญากรรม

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 16 เม.ย. พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศมีนักโทษประมาณ 3.8 แสนคน บางเรือนจำเป็นเรือนจำที่มีความมั่นคงสูง หรือเก่าแก่ใช้งานมานาน ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมามีหนักโทษแหกหักหลบหนีทั้งระหว่างถูกคุมขัง และหนีระหว่างเดินทางไปขึ้นศาลสูงถึง 11 ครั้ง จึงเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะจำนวนผู้คุมไม่เพียงพอกับจำนวนนักโทษที่ล้นเรือนจำ จึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการป้องกันไม่ให้นักโทษหลบหนี ซึ่งปัจจุบันจะพบว่ามีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนา และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการควบคุมนักโทษ โดยเฉพาะงานวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม มีงานวิจัยด้านอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle : UAV) และงานต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (ANTI UAV) ตรวจจับขบวนการนำโดรนมาหย่อนวัตถุต้องห้าม เช่น ยาเสพติด รวมทั้งระบบจำลอง Simulator ในการติดตามพฤติกรรมและตรวจจับสัญญาณ ซึ่งกรมราชทัณฑ์เห็นว่าหากมีการทำบันทึกข้อตกลงระหว่าง 2 หน่วยงานจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ เพราะไม่ต้องซื้อเทคโนโลยีนำเข้าจากต่างประเทศมาใช้ ขณะเดียวกันสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศจะได้นำนวัตกรรมที่ได้คิดค้นมาใช้ประโยชน์ด้วย 

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของกรมราชทัณฑ์เห็นว่าสิ่งจำเป็นและที่จะนำมาใช้เพื่อป้องกันนักโทษหลบหนี คือการฝังชิปในโซ่ตรวน เพราะระหว่างควบคุมตัวนักโทษไปขึ้นศาลจะต้องถูกตีตรวจ ซึ่งในช่วงระยะดังกล่าวนักโทษสามารถหลบหนีได้ หากฝังชิปเชื่อมโยงระบบผ่านมือถือและโดรนจะสามารถติดตามตัวนักโทษที่หลบหนีได้ภายใน 1 ชั่วโมง และยังสามารถตรวจสอบเส้นทางการหลบหนีว่านักโทษหนีไปในทิศทางใดได้ด้วย ส่วนข้อกังวลที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนจะมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิผู้ต้องขังหรือไม่นั้น เรื่องนี้ไม่ต้องกังวล เพราะระบบดังกล่าวจะใช้กับกลุ่มผู้ต้องขังที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเท่านั้น โดยในวันที่ 22 เม.ย.นี้ เวลา 9.00 น. กรมราชทัณฑ์ และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศจะร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในเรื่องดังกล่าว 

พ.ต.อ.ณรัชต์ ยังกล่าวถึงการนำเรือนจำชั่วคราวเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวว่า เบื้องต้นได้หารือกับ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ เพื่อขอสัตว์ป่าที่ได้จากการเพาะพันธุ์มาเลี้ยงในพื้นที่เรือนจำที่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น ทัณฑสถานเปิดบ้านนาวง จ.พัทลุง เรือนจำชั่วคราวเหรียงห้อง จ.ตรัง ทัณฑสถานเปิดห้วยโป่ง จ.ระยอง ทัณฑสถานเปิดทุ่งเบญจา จ.จันทบุรี  เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ จ.ตราด  และเรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว จ.ระยอง ซึ่งปัจจุบันเรือนจำเหล่านี้เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ทางด้านการเกษตรอยู่แล้ว แต่ยังมีพื้นที่เหลือเพียงพอเปิดเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์จำพวกแพะ แกะ กวาง ม้า ซึ่งจะขอรับการสนับสนุนจากกรมปศุสัตว์ ขณะที่อธิบดีกรมป่าไม้พร้อมสนับสนุนนำกวางลูซ่าเข้ามาเลี้ยงในพื้นที่เรือนจำ โดยแนวคิดดังกล่าวอยู่ระหว่างเตรียมการขอรับการสนับสนุน และในวันที่ 22-23 เม.ย.นี้ ได้มอบหมายให้คณะทำงานของกรมราชทัณฑ์ ลงไปสำรวจพื้นที่ร่วมกับกรมป่าไม้ที่เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ และทัณฑสถานเปิดทุ่งเบญจา เพื่อศึกษาเรียนรู้ว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความพร้อมในการรองรับสัตว์ป่าชนิดใดบ้าง 

“หากเปิดพื้นที่เรือนจำบางส่วนเป็นแหล่งท่องเที่ยวและมีสัตว์ป่าให้นักท่องเที่ยวเข้าชม เชื่อว่าจะได้รับความสนใจ และนักโทษจะได้ปรับเปลี่ยนพฤตินิสัย รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัวนักโทษให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ปกติ โดยเรือนจำจะเปิดให้นักโทษชั้นเยี่ยม และนักโทษชั้นดี ทำหน้าที่ดูแลสัตว์ ซึ่งจะทำให้นักโทษจิตใจอ่อนโยน และลดความหวาดระแวงของผู้ต้องขังกับประชาชนทั่วไปให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น” พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าว