อุทธรณ์ยืนคุก2ปีปรับ1แสน 'ศิริโชค'หมิ่นนักธุรกิจดัง
อาชญากรรม

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ห้องพิจารณาคดี 703 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.3352/2558 ที่นายอนุชา สิหนาทกถากุล อายุ 60 ปี นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตระกูลดังบุตรชายของนายมนตรี เจ้าของธุรกิจโรงแรมแลนมาร์ค เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายศิริโชค โสภา อายุ 52 ปี อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลยคดี ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 , 328 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากกรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ค.- 8 ต.ค.2558 ต่อเนื่องกัน จำเลยได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว กล่าวหา บิดาของนายอนุชาโจทก์ เป็นคนไม่ดี ชอบเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ผ่านทางเฟซบุ๊ก ซึ่งทำให้โจทก์รู้สึกได้รับความเสียหาย ขณะที่ นายศิริโชคจำเลย ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามมาตรา 328 จำคุก 2 ปี และปรับเงิน 100,000 บาท พร้อมทั้งให้จำเลย ลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ 4 ฉบับด้วย ได้แก่ ไทยรัฐ , เดลินิวส์ , ผู้จัดการ และเดอะเนชั่นภาคภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตาม จำเลยยื่นอุทธรณ์ ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษา และอ้างว่าเฟซบุ๊กที่โพสต์อาจเป็นของผู้สนับสนุนตนก็ได้ และตนไม่ได้เล่นเฟซบุ๊กดังกล่าว

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า ชื่อผู้ใช้เฟซบุ๊ก ศิริโชค ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ เคยโพสต์ข้อความแจ้งเรื่องไฟดับภายในพรรคประชาธิปัตย์ จนไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งจะต้องบุคคลภายในพรรคเท่านั้นจึงจะทราบเรื่องเลย โดยจำเลยก็เป็นรองเลขาธิการพรรค หากเป็นบุคคลภายนอกจะไม่สามารถทราบได้ นอกจากนี้ก็ยังมีการโพสต์เรื่องการตรวจสอบเรื่องการใช้รถราชการขนยาเสพติด ขณะที่การโพสต์ข้อความเรื่องการกู้ยืมเงินระหว่างบิดาโจทก์กับน.ส.เสาวรสก็ต้องเป็นบุคคลภายในครอบครัวเท่านั้นจึงจะทราบเรื่องและรายละเอียดการฟ้องคดีต่อกัน นอกจากนี้ทางนำสืบโจทก์ยังระบุว่า ได้มีการตรวจสอบจากวิกิพีเดียด้วย ซึ่งระบุว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของนายศิริโชค โดยมีการแสดงข้อมูลไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทนาน 2 ปี ขณะจำเลยก็ไม่เคยเข้าโต้แย้งว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง แม้ว่าโจทก์จะนำสืบไม่ได้ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องไอพีแอดเดรส ที่จะแสดงตำแหน่งของการโพสต์ในคอมพิวเตอร์ แต่พยานหลักฐานที่นำสืบมาสอดคล้องกับ ที่อยู่บนเว็บไซต์ของอินเตอร์เน็ต หรือ ยูอาร์แอล (อังกฤษ: URL) ที่ตรงกับเฟซบุ๊กของจำเลย ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเคยมีการปลอมของบุคคลผู้มีชื่อเสียง ก็ไม่เคยปรากฏว่าเป็นกรณีของจำเลยมาก่อน จึงฟังได้ว่า
จำเลยกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยการโฆษณา ตามมาตรา 328 ให้จำคุก 2 ปี ปรับ 100,000 บาท แต่จำเลยเคยเป็นเลขานุการส่วนตัวนายกรัฐมนตรี เคยทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องการนำรถของทางราชการไปใช้ขนยาเสพติด โดยไม่หวั่นเกรงเรื่องความไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นการตรวจสอบทำประโยชน์เพื่อสังคม และต้องเสี่ยงภัยต่อขบวนการยาเสพติดด้วย จึงเห็นว่าได้ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติมีคุณงามความดี แม้จะกระทำผิดฐานหมิ่นประมาท แต่ก็อาจเยียวยาด้วยการโฆษณาลงในสื่อสิ่งพิมพ์ได้ ที่ศาลชั้นต้นให้รอลงอาญาไว้ 2 ปีนั้นเหมาะสมแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยพิพากษายืน
ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว "นายศิริโชค" กล่าวว่า พอใจกับคำพิพากษาระดับหนึ่ง ส่วนจะมีการฎีกาอีกหรือไม่ขอปรึกษากับทนายความก่อน สำหรับการโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์นั้นก็ยังไม่ได้ดำเนินการเพราะที่ผ่านมาคดียังมีการอุทธรณ์อยู่ ผลคดียังไม่สิ้นสุด โดยหลังจากนั้นฝ่ายโจทก์เองยังจะฎีกาอีกหรือไม่ ก็ต้องรอดูเช่นกัน.