ศาลอุทธรณ์ยืนจำคุก50ปี"จุฑามาศ อดีตผู้ว่าททท."
อาชญากรรม
-
สนับสนุนเนื่อหา
-
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ห้องพิจารณา 8 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนนครไชยศรีศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีสินบนข้ามชาติหมายเลขดำ อท.14/2558 , อท.46/2559 ที่ อัยการคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนางจุฑามาศ ศิริวรรณอายุ 72 ปี อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) และ น.ส.จิตติโสภา ศิริวรรณ อายุ 45 ปี บุตรสาวเป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานเป็นพนักงาน เรียก รับหรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ จากกรณีรับเงินตอบแทน สามี-ภรรยาชาวสหรัฐอเมริกา นักธุรกิจภาพยนตร์ เพื่อให้ได้สิทธิในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯปี 2002-2007 (หรือปี พ.ศ.2545 – 2550) มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท โดยอัยการ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 25 ส.ค.58ที่ผ่านมา ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ซึ่งคดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มี.ค.60 เห็นว่า การจัดจ้างโครงการเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ มีการกำหนดเงื่อนไขโดยวิธีตกลงราคาหรือวิธีพิเศษ ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามข้อบังคับของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2538 โดยเฉพาะโครงการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2546 ไม่เป็นการจ้างบริษัทที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่มีประสบการณ์ที่เคยทราบหรือเคยเห็นความสามารถผลงานมาแล้ว โดยนางจุฑามาศ จำเลยที่ 1 คบคิดกับนายเจอรัลด์ กรีนและนางแพทริเซีย กรีน นักธุรกิจในสหรัฐฯจัดตั้งบริษัทเข้ามาเป็นคู่สัญญากับ ททท. และยังเรียกรับเงินสินบนจากนายเจอรัลด์ โดยโอนเงินไปยัง น.ส.จิตติโสภา จำเลยที่ 2 กับเพื่อน 59 รายการเป็นเงิน 1,822,294เหรียญสหรัฐ ให้จำคุกนางจุฑามาศจำเลยที่ 1 รวม 11 กระทงๆ ละ 6 ปี เป็นจำคุกทั้งสิ้น 66 ปีแต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงตามกฎหมายแล้ว ให้จำคุกสูงสุดเป็นเวลา 50 ปีและจำคุก น.ส.จิตติโสภา จำเลยที่ 2 รวม 11 กระทงเช่นกัน กระทงละ 4 ปีโดยจำคุกทั้งสิ้น 44 ปี ขณะที่ศาลมีคำสั่งให้ริบเงินกระทำผิด 1,822,494 เหรียญสหรัฐ และดอกผลที่เกิดขึ้นให้ตกเป็นของแผ่นดินด้วย โดยเงินนั้นเป็นทรัพย์ที่ฝากอยู่ในธนาคารต่างประเทศ ศาลจึงได้กำหนดมูลค่าทรัพย์ที่สั่งริบนั้น เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 62,724,776 บาท โดยหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วระหว่างอุทธรณ์นางจุฑามาศ อดีตผู้ว่า ททท.และ น.ส.จิตติโสภา บุตรสาวจำเลยที่ 1-2 ถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางเนื่องจากไม่ได้รับการประกันตัว ซึ่งวันนี้ศาลได้เบิกตัวจำเลยทั้งสองมาจากเรือนจำ ซึ่งทั้งสอง ก็ยังคงมีผิวพรรณที่สดใสไม่หม่นหมอง ขณะที่วันนี้ก็มีผู้มาให้กำลังใจด้วย 5-6 คน
ดังนั้นศาลอุทธรณ์ฯ จึงเห็นควรพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกน.ส.จิตติโสภา จำเลยที่ 2 รวม 10 กระทง จากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 11 กระทงๆ ละ 4 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น40 ปี
ส่วนนางจุฑามาศ จำเลยที่ 1 คงจำคุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น 11 กระทงๆละ 6 ปี จำคุกทั้งสิ้น 66 ปีแต่เมื่อรวมโทษตามกฎหมายแล้วให้จำคุกสูงสุดเป็นเวลา 50 ปี
โดยศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาให้ยกคำสั่งริบทรัพย์ของศาลชั้นต้นที่ให้ริบเงินที่เป็นการกระทำผิดซึ่งเป็นเงินในบัญชีต่างประเทศกว่า 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐด้วย เนื่องจากเป็นการวินิจฉัยเกินคำขอ เพราะคดีนี้อัยการโจทก์ไม่ได้มีคำขอให้ริบของกลางหรือเงินใดๆ ไว้ท้ายฟ้อง และบทเฉพาะกาลตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 52 บัญญัติ ให้บรรดาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับนั้น ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อน ดังนั้นคดีนี้จึงต้องใช้บทบัญญัติกฎหมายคดีอาญาสามัญ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่นำมาตรการริบทรัพย์สินในคดีทุจริตไม่ว่าโจทก์จะมีคำขอหรือไม่ก็ตามตามมาตรา 31(2) , มาตรา 32(2) และมาตรา 33 วรรคหนึ่งนั้นมาใช้กับคดีนี้ เป็นการพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องของโจทก์
ด้านนายสุชาติ ชมกุล ทนายความจำเลยกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่าจำเลยจะยื่นฎีกาหรือไม่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งยังคงลงโทษจำเลยทั้งสองให้จำคุกนั้น เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ได้ควบคุมตัวทั้งสอง กลับไปคุมขังยังทัณฑสถานหญิงกลาง ซึ่งระหว่างที่ยืนฟังคำพิพากษาเป็นเวลากว่าชั่วโมงเศษนั้นจำเลยทั้งสอง ก็คงมีสีหน้าเรียบเฉย